เมนู

พระบาลีอุกเขปพจน์ว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เวสาลยํ
วิหรติ มหาวเน กูฏาคารสาลายํ
เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้:-

[อธิบายเรื่องเมืองไพศาลี ]


บทว่า เวสาลิยํ มีความว่า ใกล้นครที่มีชื่ออย่างนั้น คือมีโวหาร
เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งอิตถีลิงค์. จริงอยู่ นครนั้น เรียกว่า เวสาลี เพราะ
เป็นเมืองที่กว้างขวาง ด้วยขยายเครื่องล้อม คือกำแพงถึง 3 ครั้ง. ความ
สังเขปในตติยปาราชิกนี้ มีเท่านี้. ส่วนความพิสดารแห่งบทว่า เวสาลี นั้น
อันผู้ปรารถนาอนุบุพพิกถาพึงถือเอาจากวรรณนาแห่งรัตนสูตร ในอรรถกถา
แห่งขุททกปาฐะชื่อปรมัตถโชติกาเถิด. ก็แลนครแม้นี้ พึงทราบว่า เป็นเมือง
ถึงความไพบูลย์โดยอาการทั้งปวง ในเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุ
สัพพัญญุตญาณแล้ว เท่านั้น. ท่านพระอุบาลีเถระ ครั้นแสดงโคจรคามอย่างนั้น
แล้ว จึงกล่าวที่เสด็จประทับไว้ว่า มหาวเน กูฏาคารสาลายํ (ที่กูฎาคาร
ศาลาในป่ามหาวัน).
บรรดาป่ามหาวันและกูฎาคารศาลานั้น ป่าใหญ่มีโอกาสเป็นที่กำหนด
เกิดเอง ไม่ได้ปลูก ชื่อว่าป่ามหาวัน. ส่วนป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เนื่อง
เป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์ ไม่มีโอกาสเป็นที่กำหนด ตั้งจดมหาสมุทร.
ป่ามหาวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คือเป็นป่าใหญ่ มีโอกาสเป็นที่กำหนด; เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่าป่ามหาวัน. ส่วนกูฎาคารศาลา อันถึงพร้อมด้วยอาการทั้งปวง
ซึ่งสร้างให้มีหลังคาคล้ายทรวดทรงแห่งหงส์ ทำเรือนยอดไว้ข้างใน ณ อาราม
ที่สร้างไว้อาศัยป่ามหาวัน พึงทราบว่า เป็นพระคันธกุฎีสำหรับพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า.

[พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอสุภกรรมฐานแก่พวกภิกษุ]


หลายบทว่า อเนกปริยาเยน อสุภกถํ กเถติ มีความว่าพระผู้มี-
พระภาคเจ้า ทรงแสดงกถาเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายในกาย ซึ่งเป็นไปด้วย
อำนาจแห่งความเล็งเห็นอาการอันไม่งาม ด้วยเหตุมากมาย. ทรงแดงอย่างไร?
ทรงแสดงว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน ฯ มูตร. มีคำอธิบายอย่างไร ?
มีคำอธิบายอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บางคน เมื่อค้นหาดูแม้ด้วยความ
เอาใจใส่ทุกอย่างในกเลวระมีประมาณวาหนึ่ง จะไม่เห็นสิ่งอะไร ๆ จะเป็น
แก้วมุกดาหรือแก้วมณี แก้วไพฑูรย์หรือกฤษณา แก่นจันทน์หรือกำยาน
การบูรหรือบรรดาเครื่องหอมมีจุณสำหรับอบเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที
ซึ่งเป็นของสะอาด แม้มาตรว่าน้อย; โดยที่แท้ จะเห็นแต่ของไม่สะอาดมีประการ
ต่าง ๆ มีผมและขนเป็นต้นเท่านั้น ซึ่งมีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง น่าเกลียด มีการ
เห็นไม่เป็นมิ่งขวัญ; เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรทำความพอใจ หรือความรัก
ใคร่ในกายนี้ อันที่จริง ขึ้นชื่อว่าผมเหล่าใด ซึ่งเกิดบนศีรษะ อันเป็นอวัยวะ
สูงสุด แม้ผมเหล่านั้น ก็เป็นของไม่งามเหมือนกัน ทั้งไม่สะอาด ทั้งเป็น
ของปฏิกูล ก็แล ข้อที่ผมเหล่านั้นเป็นของไม่งาม ไม่สะอาดและเป็นของ
ปฏิกูลนั้น พึงทราบโดยเหตุ 5 อย่าง คือ โดยสีบ้าง โดยสัณฐานบ้าง โดย
กลิ่นบ้าง โดยที่อยู่บ้าง โดยโอกาสบ้าง; ข้อที่ส่วนทั้งหลายมีขนเป็นต้น
เป็นของไม่งาม ไม่สะอาด และเป็นของปฏิกูลก็พึงทราบด้วยอาการอย่างนี้แล.
ความสังเขปในอธิการแห่งตติยปาราชิกนี้มีเท่านี้. ส่วนความพิสดารพึงทราบ
โดยนัยที่กล่าวแล้ว ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
อสุภกถาในส่วนอันหนึ่ง ๆ โดยอเนกปริยาย มีประเภทส่วนละ 5 ๆ ด้วย
ประการฉะนี้.